พรบ.ควบคุมอาคาร กฎกระทรวงฉบับที่ ๕๕ พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
ป้ายหรือสิ่งที่ก่อสร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ถือว่า เป็น อาคารตามกฎหมายควบคุมอาคาร
(๑) ที่ติดหรือตั้งป้ายไว้เหนือที่สาธารณะและมีขนาดเกินหนึ่งตารางเมตร หรือ น้ำหนักรวมทั้งโครงสร้างเกินสิบกิโลกรัม หรือ
(๒) ที่ติดหรือตั้งห่างจากที่สาธารณะ ซึ่งเมื่อวัดในทางราบแล้วมีระยะห่าง จากที่สาธารณะน้อยกว่าความสูงของป้ายนั้นเมื่อวัดจากพื้นดิน และต้อง มีขนาดพื้นที่ หรือ น้ำหนัก ๔ ลักษณะ คือ
(๒.๑) ขนาดความกว้างของป้ายเกิน ๕๐ เซนติเมตร หรือ
(๒.๒) ยาวเกินหนึ่งเมตร หรือ
(๒.๓) เนื้อที่ของป้ายเกิน ๕,๐๐๐ ตารางเซนติเมตร หรือ
(๒.๔) มีน้ำหนักของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดตั้งป้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินสิบกิโลกรัม
ข้อกำหนด
กรณีที่ป้ายที่มีลักษณะดังกล่าวเป็นอาคาร การก่อสร้างป้ายโฆษณา จึงต้องขออนุญาต กับพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนดำเนินการก่อสร้าง ทั้งนี้ในการก่อสร้างป้ายหรือสิ่งที่ก่อสร้างเพื่อติดหรือตั้งป้าย ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารต้องไม่ล้ำออกนอกแนวผนังรอบนอกของอาคาร และส่วนบนสุดของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งต้องสูงไม่เกิน ๖ เมตร จากส่วนสูงสุดของอาคารหรือดาดฟ้าของอาคารที่ติดตั้งป้ายนั้น
(๒) ป้ายที่ติดตั้งอยู่บนพื้นดินโดยตรง ต้องมีความสูงไม่เกินระยะที่วัดจากจุดที่ติดตั้งป้ายไปจนถึงกึ่งกลาง ถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้ป้ายนั้นมากที่สุด และมีความยาวของป้ายไม่เกิน ๓๒ เมตร
(๓) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่อาคารให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของอาคารและต้องไม่บังช่องระบายอากาศ หน้าต่าง ประตู หรือทางหนีไฟ
(๔) ป้ายที่ติดผนังอาคารที่อยู่ริมทางสาธารณะ ให้ยื่นได้โดยไม่ต้องล้ำที่สาธารณะส่วนต่ำสุดของป้ายต้องไม่น้อยกว่า ๓.๒๕ เมตร จากระดับทางเท้าและสูงไม่เกินความสูงของอาคาร
(๕) ป้ายที่ติดตั้งอยู่บนที่ดินโดยตรง ต้องมีความสูงไม่เกินระยะที่วัดจากจุดที่ติดตั้งป้ายไปจนถึงกึ่งกลางถนน สาธารณะ และสูงไม่เกิน ๓๐ เมตร มีความยาวไม่เกิน ๓๒ เมตรและต้องห่างจากที่ดินต่างเจ้าของไม่น้อยกว่า ๔ เมตร
( ที่มา : (๑) - (๒) กฎกระทรวงฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ.๒๕๔๓) , (3) – (5) ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 )
1.ป้ายบนดิน
ป้ายที่ติดตั้งอยู่บนที่ดินโดยตรง ต้องมีความสูงไม่เกินระยะที่วัดจากจุดที่ติดตั้งป้ายไปจนถึงกึ่งกลางถนนสาธารณะ ที่อยู่ใกล้ป้ายนั้นมากที่สุด และมีความยาวของป้ายไม่เกิน ๓๒ เมตร ส่วนที่เป็นขอบเขตนอกสุดของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับเหนือพื้นดิน หรือต่ำกว่าระดับพื้นดินต้องห่างจากเขตที่ดินของผู้อื่นหรือถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า ๖ เมตร ทั้งนี้ไม่รวมถึงส่วนที่เป็นฐานรากของอาคาร
1.1 ป้ายบนดิน (กทม.)
ป้ายที่ติดตั้งอยู่บนที่ดินโดยตรง ต้องมีความสูงไม่เกินระยะที่วัดจากจุดที่ติดตั้งป้ายไปจนถึงกึ่งกลางถนนสาธารณะ และสูงไม่เกิน ๓๐ เมตร มีความยาวไม่เกิน ๓๒ เมตรและต้องห่างจากที่ดินต่างเจ้าของไม่น้อยกว่า ๔ เมตร เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันห้ามก่อสร้างป้ายโฆษณาในระยะ ๕๐ เมตร จากเขตทาง ตามข้อบัญญัติกทม. พ.ศ. ๒๕๔๙
2.ป้ายบนอาคาร
- ป้ายหรือสิ่งก่อสร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่อาคารต้องไม่บังช่องระบายอากาศหน้าต่าง ประตู หรือทางหนีไฟ
- ป้ายหรือสิ่งก่อสร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารต้องไม่ล้ำออกนอกแนวผนังรอบนอกของอาคาร และส่วนบนสุดของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายต้องสูงไม่เกิน ๖ เมตรจากส่วนสูงสุดของหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารที่ติดตั้งป้ายนั้น
- สิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายให้ทำด้วยวัสดุทนไฟทั้งหมด
3.ป้ายข้างอาคาร
- ป้ายหรือสิ่งก่อสร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่อาคารต้องไม่บังช่องระบายอากาศหน้าต่าง ประตู หรือทางหนีไฟ
- ป้ายที่ยื่นจากผนังอาคารให้ยื่นได้ไม่เกินแนวกันสาด และให้สูงได้ไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตรหรือมีพื้นที่ป้ายไม่เกิน ๒ ตารางเมตร
- ป้ายที่ติดตั้งเหนือกันสาดหรือไม่ได้ยื่นจากผนังอาคารให้ติดตั้งได้โดยมีความสูงของป้ายไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตรวัดจากขอบบนของปลายกันสาดนั้นหรือมีพื้นที่ป้ายไม่เกิน ๒ ตารางเมตร
- ป้ายที่ติดตั้งใต้กันสาดให้ติดตั้งแนบผนังอาคาร และต้องสูงจากพื้นทางเท่านั้นไม่น้อยกว่า ๒.๕๐ เมตร
- ป้ายโฆษณาสำหรับโรงมหรสพให้ติดตั้งขนานกับผนังอาคารโรงมหรสพ แต่จะยื่นห่างจากผนังได้ไม่เกิน ๕๐ เซนติเมตร หรือหากติดตั้งป้ายบนกันสาดจะต้องไม่ยื่นล้ำแนวปลายกันสาดนั้นและความสูงของป้ายทั้งสองกรณีต้องไม่เกินความสูงของอาคาร
- สิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายให้ทำด้วยวัสดุทนไฟทั้งหมด